Experts' Comments & Mine

These commentaries are worth reading because of their authors' fine reputation, integrity, and patriotism.

Friday, September 29, 2006

 

Thailand's Turning Point by Wuttipong Priebjariyawat, Ph.D.

จุดเปลี่ยนประเทศไทย
โดย ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์
29 กันยายน 2549 14:16 น.

การปฏิวัติรัฐประหารในค่ำคืนของวันอังคารที่ 19 กันยายน 2549 ทำให้ชีวิตทางการเมืองของ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร จบแล้วหรือยัง? เป็นคำถามท้าทายความอยากรู้และชวนให้หาคำตอบ แต่ทว่าเป็นคำถามที่หลงประเด็นและเสียเวลาเปล่า ที่ว่าหลงประเด็น ก็เพราะให้ความสำคัญกับชีวิตของคุณทักษิณมากมายจนเกินเหตุ ชีวิตของคุณทักษิณไม่ได้สำคัญขนาดนั้น ชีวิตของประเทศต่างหากที่สำคัญ คำถามที่ควรถามมากที่สุดขณะนี้ก็คือ ต่อจากนี้ประเทศไทยจะก้าวเดินไปในทิศทางไหนและอย่างไร? และที่ว่าเสียเวลาเปล่าก็เพราะว่า หากเราสามารถตอบคำถามหลังได้อย่างชัดเจนถูกต้องแล้ว คำถามแรกก็จะถูกตอบไปพร้อมกันโดยปริยาย

ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยกับการใช้กำลังทหารเข้าทำการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้

(1) ได้มาด้วยราคาแสนแพง เพราะนอกจากพี่น้องทหารหาญต้องเอาตำแหน่งหน้าที่การงาน ตลอดจนชีวิตของตัวเองเข้าเสี่ยงแล้ว พี่น้องประชาชนยังต้องออกมารอนแรมนอนกลางดินกินกลางทราย ตั้งแต่บริเวณท้องสนามหลวงยันหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อประท้วงต่อสู้มาแรมปี

(2) เกิดในช่วงเวลาพิเศษที่เป็นมหามงคล เพราะปี 2549 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปี และปี 2550 เป็นปีที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา

(3) มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศชาติ ถ้าเลือกสับรางได้ถูกทางก็จะนำประเทศไปสู่ความวัฒนาสถาพรนับอีกสิบๆ ปี แต่ถ้าเลือกพลาดก็เสียหายมากมายครือกัน

(4) เป็นโอกาสที่หายากยิ่ง เพราะเป็นช่วงปลอดจากการเมืองปกติ ทำให้สามารถทำสิ่งที่ดีพิเศษให้กับชาติบ้านเมือง ที่ทำไม่ได้ในช่วงรัฐบาลภายใต้พรรคการเมือง หากปล่อยให้ผ่านไปก็อาจจะไม่มีโอกาสเช่นนี้อีก

(5) เสร็จแค่ครึ่งเดียว เพราะแม้จะสามารถล้มอำนาจอดีตนายกทักษิณลงได้ แต่ยังไม่ได้ขุดรากถอนโคนระบอบทักษิณซึ่งได้แผ่ซ่านในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง และยังไม่ได้วางรากฐานให้ระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ดีกว่าได้วางหลักปักฐานในสังคมไทย และ

(6) ครึ่งหลังยากกว่าครึ่งแรก

จากการจัดเสวนาประชาชนกว่า 20 ครั้งในช่วงเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา สถาบันสหสวรรษได้รวบรวมและเรียบเรียงความคิดเห็น จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายหลากและผู้เข้าร่วมเสวนาจำนวนมากมาย ซึ่งพอสรุปเป็นภารกิจสำคัญของประเทศชาติในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ได้ 6 ภารกิจ โดยมีเค้าโครงพอสังเขปดังต่อไปนี้

1. ปฏิรูปการเมือง

1.1 ร่างรัฐธรรมนูญ
1.2 ทำองค์กรอิสระให้อิสระ
1.3 สนับสนุนการเมืองภาคประชาชน
1.4 ปลดแอกพรรคการเมืองจากนายทุน

2. ปรับแนวทางเศรษฐกิจ

2.1 ทวงสมบัติสาธารณะคืนประชาชน
2.2 ทบทวนกฎหมายการค้าเสรี
2.3 ปรับแก้โครงการประชานิยม
2.4 สร้างชุมชนพึ่งตนเอง

3. ดับไฟใต้

4. เช็คบิลคอร์รัปชั่น

5. ปฏิรูปสื่อ

6. เสนอแนวทางปฏิรูประบบอื่นๆ

ทั้งนี้ หากนับจากวันที่ล้มรัฐบาลทักษิณในเดือนกันยายน 2549 ไปจนถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งสมมติว่าตกประมาณกลางหรือปลายเดือนธันวาคม 2550 หลังจากวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว รัฐบาลเฉพาะกาลก็จะมีเวลาทั้งสิ้นประมาณ 15 เดือน เพื่อปฏิบัติภารกิจข้างต้นให้สำเร็จลุล่วง ขณะที่ช่องไฟทางการเมืองนี้ยังเปิดอยู่ ยกเว้นแต่ภารกิจประการสุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องระยะกลางถึงยาวและต่อเนื่องนั้น คงทำได้เพียงจัดทำข้อเสนอ เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับพรรคการเมืองต่างๆ หรือรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะพิจารณานำเอาไปใช้

1. ปฏิรูปการเมือง

การปฏิรูปการเมือง คือข้อเรียกร้องที่ดังและชัดที่สุดในระหว่างการต่อสู้เพื่อล้มระบอบทักษิณ ปัญหาของบ้านเมืองไม่ว่าปัญหาใด เมื่อสาวย้อนกลับไปก็มักจะพบว่าล้วนเกิดจากการเมืองแทบทั้งสิ้น การแกะปมปลดล็อคปัญหาการเมืองนั้นไม่ง่าย เพราะมีความสลับซับซ้อนทั้งในด้านเนื้อหาสาระและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ภารกิจปฏิรูปการเมืองนี้ประกอบไปด้วย งานที่เกี่ยวข้องมากมายกว้างขวาง แต่จะเสนอเพียง 4 งานสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับตารางเวลาอันจำกัดของรัฐบาลเฉพาะกาล อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะชี้แจงขยายความเกี่ยวกับงานทั้งสี่ จะขอกล่าวถึงแนวคิดและที่มาที่ไปของข้อเสนอดังกล่าวเสียก่อนรวม 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้

(1) โจทย์สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้ต่างจากคราวที่แล้วโดยสิ้นเชิง ปัญหาการเมืองที่อยู่ในใจของประชาชนในเวลานั้นคือ เรื่องเผด็จการทหารและเสถียรภาพของรัฐบาล ดังนั้น จึงมุ่งเน้นสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาล จนทำให้เกิดปัญหาและกลายเป็นวิกฤติทางการเมืองในที่สุด

ทว่าปัญหาหลักในวันนี้คือการทับซ้อนของอำนาจรัฐและอำนาจทุน การเมืองไทยในปัจจุบันอยู่ในอุ้งมือของกลุ่มเศรษฐีนักการเมือง ที่ด้านหนึ่งมีผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ จึงสามารถเอาผลประโยชน์ของรัฐ ไปแจกจ่ายให้ธุรกิจของครอบครัวและพวกพ้องได้อย่างสะดวกง่ายดาย ทั้งในรูปของสัมปทาน อำนาจผูกขาด และสิทธิพิเศษต่างๆ ซึ่งอาจเรียกรวมๆ กันได้ว่าเป็นเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย”

(2) ปัญหาของประชาธิปไตยไทยแท้จริงไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ รัฐบาล รัฐสภา หรือองค์กรอิสระ แต่เกิดจากความอ่อนแอของการเมืองภาคประชาชน ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 จะได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เกิดมรรคเกิดผลจริงจัง เพราะการเมืองภาคประชาชนยังเตาะแตะตั้งไข่อยู่ ความจริงการสร้างความเข้มแข็งให้กับการเมืองของประชาชนก็หนีไม่พ้นการลงทุนลงแรงของประชาชนเอง แต่การสนับสนุนจากรัฐบาลจะช่วยผ่อนแรงและร่นระยะเวลาของการพัฒนาการเมืองภาคประชาชนได้อย่างเห็นทันตา

(2) หัวใจของระบอบประชาธิปไตยมิได้อยู่ที่ลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก แต่ทว่าสะท้อนออกมาในรูปของวัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชนคนไทยทุกผู้ทุกนาม พฤติกรรมและวุฒิภาวะทางการเมืองของคนไทยนี้เอง คือเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาทางการเมือง มากกว่าการมีรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นอย่างโก้หรู นี่แหละคือแก่นแท้ของความเป็นประชาธิปไตยของชาติ

ภารกิจแรกนี้สามารถแยกแยะตามแนวคิดข้างต้นได้เป็น 4 งานด้วยกันโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.1 ร่างรัฐธรรมนูญ

ในทางปฏิบัติการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้คงจะเริ่มด้วยการเอาฉบับเดิมเป็นแบบ แล้วค่อยแก้ไขปรับเปลี่ยนในประเด็นที่ก่อปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมา เนื้อหาสาระที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขนั้นมีมากมายหลายหลาก แต่ในเนื้อที่จำกัดนี้ขอเสนอเพียง 6 ประเด็นดังนี้

(1) รัฐธรรมนูญควรสั้นและมีจำนวนมาตราน้อย ส่วนรายละเอียดควรเอาไปขยายความในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่า “กฎหมายลูก”

(2) รัฐบาลเฉพาะกาลซึ่งเป็นคนกลางควรเป็นผู้ร่างกฎหมายลูกเสียเอง ไม่ปล่อยให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งที่มาจากพรรคการเมืองเอาไปร่าง เพราะจะเกิดปัญหาตามมาเหมือนครั้งที่แล้ว

(3) การลงคะแนนเลือกตั้งควรเป็นสิทธิไม่ใช่หน้าที่

(4) ไม่ควรบังคับให้ สส. เขต ต้องสังกัดพรรคและไม่ควรจำกัดสิทธิผู้ไม่จบปริญญาตรีไม่ให้ลงสมัคร สส.

(5) ลดจำนวนรวมของ สส. ลง พร้อมปรับเพิ่มสัดส่วน สส. บัญชีรายชื่อ

(6) ให้กระทรวงหนึ่งมีรัฐมนตรีเพียงคนเดียวเพื่อลดขนาดของ ครม. ส่วนผู้ช่วยรัฐมนตรีนั้นให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงแต่งตั้งและรับผิดชอบเอง

1.2 ทำองค์กรอิสระให้อิสระ

เนื่องจากถูกแทรกแซงอย่างหนักโดยรัฐบาล องค์กรอิสระจึงได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ชำรุดและบ่อยครั้งถูกใช้เป็นอาวุธไว้ปราบศัตรูทางการเมืองของรัฐบาล จึงควรแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระต่างๆ ในช่วงรัฐบาลเฉพาะกาลนี้ เพราะที่ผ่านมากฎหมายลูกเหล่านี้ถูกร่างโดยนักการเมืองเป็นหลัก

นอกจากนั้น ควรรื้อกระบวนการสรรหากรรมการขององค์กรอิสระ กลับมานิยามบทบาทหน้าที่ของบางองค์กรเสียใหม่ หรืออาจต้องยุบเลิกบางองค์กร ตัวอย่างเช่น เสนอให้เปลี่ยนวิธีการได้มาของวุฒิสมาชิก หรือให้ยุบเลิกวุฒิสภาไปเลย บ้างเสนอให้จำกัดบทบาทของ กกต. โดยให้บริหารการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว การตัดสินความถูกผิดของผู้สมัครควรยกไปเป็นอำนาจของศาล เป็นต้น

1.3 สนับสนุนการเมืองภาคประชาชน

จริงอยู่ที่การเมืองภาคประชาชนจะเข้มแข็งได้ต้องอาศัยน้ำพักน้ำแรงของประชาชนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องไม่ทำตัวเป็นอุปสรรคเสียเอง พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมการเมืองภาคประชาชนในเรื่องต่อไปนี้

(1) ปรับปรุงกระบวนการทำประชาพิจารณ์ ประชามติ ตลอดจนกระบวนการเสนอกฎหมายโดยประชาชน 50,000 ชื่อ ให้สะดวกสำหรับประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

(2) ผลักดันให้ พรบ. ข้อมูลข่าวสาร เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ

(3) แก้ไขกฎหมายจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนให้เป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว และอนุญาตให้จัดตั้งองค์กรที่ดำเนินการด้านการเมืองภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองและนโยบายสาธารณะ

(4) ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและโยกย้ายผู้บริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลหรือนักการเมืองเอาตำรวจมารังแกประชาชน ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามสิทธิและเสรีภาพแห่งรัฐธรรมนูญ

1.4 ปลดแอกพรรคการเมืองจากนายทุน

คอร์รัปชั่นไม่ว่ารูปแบบใดล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากการอุปถัมภ์ทางการเงินโดยนายทุนพรรค ซึ่งมักเป็นนักธุรกิจใหญ่ที่ทำมาหากินกับธุรกิจที่แอบอิงอำนาจรัฐ จึงเกิดการลงทุนถอนทุนทางการเมืองกันอย่างเป็นระบบ

หากต้องการทำลายระบบธนกิจการเมืองนี้ รัฐบาลเฉพาะกาลควรออกกฎหมายอนุญาตให้ผู้เสียภาษีอากรมีสิทธิเอาเงินภาษีของเขาส่วนหนึ่ง (เช่น 1% ของยอดภาษีแต่ไม่เกินคนละ 500 บาท เป็นต้น) บริจาคโดยตรงแก่พรรคการเมืองใดก็ได้ตามความประสงค์ของเขา วิธีนี้จะช่วยให้พรรคการเมืองทั้งระบบได้รับเงินสนับสนุนนับพันล้านโดยตรงจากผู้เสียภาษีอากร แทนที่จะต้องไปขอพึ่งจากนายทุนพรรค แล้วกลายเป็นหนี้บุญคุณกันภายหลัง วิธีนี้จะพลิกโฉมวิถีทางการเมืองโดยสิ้นเชิง แทนที่นักการเมืองจะต้องจ่ายประชาชนเพื่อให้เลือกตน กลับกลายเป็นประชาชนเป็นผู้จ่ายเงินให้นักการเมืองที่ตนเห็นว่าดีให้มารับใช้บ้านเมือง วิธีนี้จะช่วยให้พรรคการเมืองใหม่ๆ ที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีคุณงามความดีและเป็นที่ยอมรับของสังคม สามารถแจ้งเกิดทางการเมืองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาความเมตตาจากนายทุนพรรคอีกต่อไป

2. ปรับแนวทางเศรษฐกิจ

หัวข้อนี้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางไม่น้อยกว่าเรื่องปฏิรูปการเมือง แต่เพื่อให้สามารถจัดการให้เกิดมรรคผลได้ภายในกรอบเวลาอันจำกัดของรัฐบาลเฉพาะกาล จึงเสนอเฉพาะงานสำคัญเร่งด่วนเพียง 4 งานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะชี้แจงรายละเอียดของแต่ละงาน จะขอกล่าวถึงแนวความคิดที่เป็นรากฐานของข้อเสนอดังกล่าวทั้งหมด 3 ประเด็น ดังนี้

(1) การปฏิเสธแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบทุนนิยม กลไกตลาด การค้าเสรี และกระแสโลกาภิวัตน์ นั้นเป็นไปไม่ได้ และถึงแม้จะทำได้ก็ไม่เป็นคุณอยู่ดี ทว่าในทางตรงกันข้าม การรับระบบทุนเสรีอย่างอ้าซ่าโดยไม่ลืมหูลืมตาก็เป็นโทษไม่แพ้กัน ดังได้ประสบแล้วในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ดังนั้น โจทย์ของประเทศจึงไม่ใช่การเลือกจากสองแนวทางที่สุดโต่ง แต่เป็นการประสมประสานระหว่างแนวทางทั้งสองอย่างเลือกเฟ้น ซึ่งจะขอเรียกแนวคิดเช่นนี้ว่า “แนวโลกาภิวัตน์แบบกลั่นกรอง” หรือ “filtered globalization” ในภาษาอังกฤษ

(2) ให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ อี เอฟ
ชูเมคเกอร์ (E.F. Schumacher) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อกระฉ่อนโลก แนวคิดนี้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันจากโรคภัยทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติได้เป็นอย่างดี เพราะเน้นการดูแลทุกข์สุขตามอัตภาพของประชาชนและความสงบสุขของสังคมมากกว่าดุลการค้าหรือดัชนีตลาดหุ้น

(3) ปัญหาหลักของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ เกิดจากการทับซ้อนของอำนาจรัฐและอำนาจทุนดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อปฏิรูปการเมือง จนทำให้อำนาจรัฐถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมืองในการขูดรีดประชาชนโดยทั่วไป

กรอบแนวคิดข้างต้นได้สะท้อนออกมาเป็นข้อเสนอสำหรับรัฐบาลเฉพาะกาลภายใต้หัวข้อนี้ 4 งานหลักด้วยกัน ดังต่อไปนี้

2.1 เอาสมบัติสาธารณะคืนประชาชน

เนื่องจากสมบัติสาธารณะของประเทศชาติจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะอยู่ในรูปสัมปทานหรือสิทธิพิเศษ ได้ถูกนักการเมืองนำมาแจกจ่ายให้กับธุรกิจของตนและพวกพ้อง ข้อเสนอนี้ก็ชัดเจนตรงไปตรงมา กล่าวคือ นำเอาสัมปทานและสิทธิพิเศษดังกล่าว กลับมาทบทวนซึ่งอาจนำไปสู่การเจรจาตกลงเงื่อนไขใหม่ หรืออาจถึงการยึดกลับมาเพื่อใช้เป็นบริการประชาชน

สมบัติสาธารณะนี้ครอบคลุมตั้งแต่ ช่องสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ ความถี่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่โครงข่ายโทรศัพท์และอินเตอร์เนต ทางด่วน ขนส่งมวลชน สนามบิน ท่าเรือ วงโคจรดาวเทียม เส้นทางการบิน ประปา รวมถึงโครงข่ายระบบไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลทักษิณพยายามจะขายทอดตลาดแต่ไม่สำเร็จ ตลอดจน ปตท. ที่ได้ขายเป็นหุ้นเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว และได้กลายเป็นปมขัดแย้งทางการเมืองที่บาดลึกระหว่างประชาชนและรัฐบาลทักษิณ

2.2 ทบทวนกฎหมายการค้าเสรี

การเปิดประเทศแบบไม่ยั้งมือของรัฐบาลทักษิณด้วยการเซ็นสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA) กับต่างประเทศอย่างเงียบเชียบและน่าสงสัย น่าจะถูกสอบทานอีกครั้งถึงความถูกต้อง ทั้งในเชิงเนื้อหาสาระ กระบวนการ และอำนาจของผู้ลงนาม ส่วนกฎหมายเขตการปกครองพิเศษที่จะนำมาใช้กับที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ ก็น่าจะถูกยกเลิกหรือทบทวนเช่นกัน

นอกจากนั้น กฎหมาย 11 ฉบับที่ประชาชนมักเรียกกันจนติดปากว่า “กฎหมายขายชาติ” ซึ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์ได้ออกไว้ในช่วงปี 2540-2543 และพรรคไทยรักไทยได้เคยสัญญาว่าจะยกเลิกเมื่อได้เป็นรัฐบาล ก็ควรที่จะได้รับการทบทวนเช่นเดียวกันด้วย

2.3 ทบทวนโครงการประชานิยม

หากศึกษาโครงการประชานิยมของรัฐบาลทักษิณอย่างถ่องแท้จะเห็นว่า ส่วนมากเป็นโครงการหาเสียง มิได้เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งตามความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ประชานิยม” แต่ทว่าเอาประชาชนมาเป็นเครื่องมือและอาวุธสำหรับต่อสู้ทางการเมือง โครงการประชานิยมหลายโครงการ ตัวอย่างเช่น กองทุนหมู่บ้าน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนชนบท (SML) ควรได้รับการแก้ไข โดยนำงบประมาณและทรัพยากรมาใช้ในแนวทางใหม่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในลักษณะที่ยั่งยืน โดยอาจนำไปรวมกับแนวทางที่จะเสนอในหัวข้อเรื่อง “การสร้างชุมชนพึ่งตนเอง” ต่อไป

2.4 สร้างชุมชนพึ่งตนเอง

ข้อเสนอภายใต้หัวข้อนี้ เป็นการนำแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ในระดับชุมชนขนาดใหญ่ เพราะเชื่อว่าจะสามารถสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้กับสังคมไทย และเป็นทางเลือกใหม่ของสังคมชนบทไทย ทำให้เราสามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพายึดติดกับเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์แบบไม่มีทางเลือก ทั้งยังเป็นคำตอบระยะยาวในการแก้ไขปัญหาความยากจนของคนไทยได้อย่างแท้จริงและถาวรอีกด้วย

วิธีการสร้างชุมชนพึ่งตนเองนี้จะเริ่มด้วยการเอาพื้นที่ป่าเศรษฐกิจขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้และป่าเสื่อมโทรมที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ มาจัดแบ่งออกเป็นชิ้นขนาดเขื่องๆ ชิ้นละประมาณ 10,000 ไร่ สำหรับนำมาพัฒนาและบริหารเพื่อเลี้ยงดูคนไทยประมาณ 600 ครอบครัว

ในขั้นแรก นำที่ 10,000 ไร่นี้ มาแบ่งออกเป็นส่วนๆ โดยนำเอาเนื้อที่ประมาณ 3,000-4,000 ไร่ มาปลูกให้เป็นป่าถาวรเพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้ ส่วนอีก 3,000-4,000 ไร่ ก็นำมาใช้เป็นป่าเศรษฐกิจด้วยการปลูกไม้โตเร็ว เพื่อให้ได้เยื่อไม้และท่อนไม้สำหรับขาย และใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหุงหาอาหาร

สำหรับพื้นที่ส่วนที่เหลือจากข้างต้น นอกจากจะจัดสรรสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนประมาณ 400-500 ไร่แล้ว ก็อาจจะนำอีก 800-1,000 ไร่ มาใช้สำหรับปลูกพืชผักผลไม้ไว้เป็นอาหารเลี้ยงชุมชน อีกสัก 400-500 ไร่ ไว้สำหรับเลี้ยงหมูเห็ดเป็ดไก่และปศุสัตว์เพื่อเป็นอาหารอีกเช่นกัน พร้อมทั้งเว้นที่ไว้ 500-1,000 ไร่ สำหรับเป็นบึงใหญ่เพื่อเก็บน้ำไว้บริโภค เลี้ยงสัตว์ และรดน้ำผัก อีกทั้งเป็นที่เลี้ยงกุ้งหอยปูปลาเพื่อเลี้ยงดูชาวชุมชน หากต้องการแต่งเติมสีสันและเพิ่มชีวิตชีวาให้กับชุมชนนี้ ก็อาจเก็บที่ริมบึงใหญ่สัก 50-100 ไร่ ไว้สร้างรีสอร์ทสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อเป็นการหารายได้เสริมให้กับชุมชน

ผลลัพธ์ก็คือ เราสามารถใช้ที่ดินประมาณ 10,000 ไร่ดูแลคนไทยราว 600 ครอบครัวให้อิ่มหนำสำราญและมีความสุขตามอัตภาพได้ อีกทั้งทำให้เกิดผลดีด้านนิเวศวิทยา เพราะแทนที่จะต้องหักร้างถางพงเพื่อเลี้ยงดูประชากรของประเทศ วิธีนี้กลับจะช่วยให้ประเทศชาติได้ป่ามากขึ้น นอกจากนั้น ยังจะช่วยลดปัญหาสังคมได้อย่างจริงจัง เพราะทำให้ครอบครัวไม่ต้องบ้านแตกสาแหรกขาด เพื่อมาหาอาชีพและขายแรงงานในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ ทั้งยังจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีความมั่นคง เพราะสามารถพึ่งตนเองได้เกือบสมบูรณ์ ไม่ต้องพึ่งพาและผันผวนตามเศรษฐกิจโลกอย่างสิ้นเชิง

ในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าที่เข้าเกณฑ์ข้างต้นประมาณ 5,000 เท่าของแปลงสมมุติ ซึ่งหมายความว่าเราสามารถใช้พื้นที่จำนวนนี้เลี้ยงดูคนไทยได้อย่างพอเพียงถึง 3 ล้านครอบครัว (5,000 x 600 = 3,000,000) หรือถึง 15 ล้านคน (คิดจาก 5 คนต่อครอบครัว) หรือเท่ากับ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอข้างต้นมิได้มีเจตนาจะตัดประเทศไทยออกจากระบบสังคมและเศรษฐกิจโลกแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการเสนอให้เราเปิดระบบเศรษฐกิจทางเลือกให้กับสังคมไทย ทำให้คนไทย 1 คนในทุก 4 คนมีสิทธิ์ที่จะเลือกอยู่ในระบบเศรษฐกิจนี้ได้หากต้องการ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจให้กับสังคมไทย เมื่อถึงวันนั้น ไม่ว่ากระแสการเงินโลก การเคลื่อนไหวของเงินทุนเสรี อัตราแลกเปลี่ยนของเงินตราต่างประเทศ และดัชนีตลาดหุ้นสำคัญของโลก จะผวนผันหรือปั่นป่วนเพียงใดก็ตามที คนไทย 1 ใน 4 คนก็ยังจะสามารถดำเนินชีวิตของเขาอยู่ได้อย่างปกติสุข และอาจเป็นที่พึ่งพิงให้กับคนไทยอีก 3 คนที่เหลือในยามวิกฤตก็ได้

3. ดับไฟใต้

ปัญหาความรุนแรงในเขตสามจังหวัดภาคใต้นั้น พอสรุปได้ว่าเกิดความผิดพลาดในเชิงนโยบายจากส่วนกลางของรัฐบาลทักษิณ แม้ว่าความขัดแย้งทางความคิดและความรุนแรงนั้นมีอยู่เดิมอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แต่การบริหารจัดการที่ผิดพลาดได้โหมกระพือไฟที่ลามเลียใกล้มอดให้ลุกโชนกลายเป็นเพลิงพิโรธกองใหญ่ จากการรวบรวมความคิดเห็นของผู้รู้หลากหลายพอสรุปแนวทางกว้างๆ ในการแก้ไขปัญหาไฟใต้ได้ดังนี้

(1) นำตัวผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ทหาร หรือตำรวจที่ได้กลั่นแกล้งรังแกอุ้มฆ่าประชาชนโดยผิดกฎหมายมาลงโทษ

(2) ชี้แจงอธิบายตลอดจนขอโทษต่อครอบครัวของผู้สูญเสีย ในเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ พร้อมทั้งชดเชยช่วยเหลือตามเหมาะสมของแต่ละกรณี

(3) รื้อฟื้นแนวทางการบริหารแบบ ศอ.บต. พร้อมโยกย้ายข้าราชการที่เลวร้ายเกเรออกจากพื้นที่ เปลี่ยนเอาผู้ที่ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” มาประจำการแทน

(4) เปิดโอกาสให้ชาวไทยที่นับถือศาสนามุสลิมได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม ในการบริหารราชการ และกิจกรรมทางสังคมและการเมืองมากขึ้น

(5) รณรงค์ปรับเปลี่ยนทัศนคติของชาวไทยทั้งประเทศให้ละทิ้งความรุนแรง โดยเอาเชื้อชาติเผ่าพันธุ์หรือศาสนาของตนเป็นศูนย์กลางและที่ตั้ง และหันมาสู่แนวคิดอหิงสาที่เน้นและยอมรับความหลากหลายของสังคมมนุษย์ ทั้งในด้านชาติพันธุ์และความคิด เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

4. เช็คบิลคอร์รัปชั่น

การทุจริตคอร์รัปชั่นโดยรวมในช่วงของรัฐบาลทักษิณ มักเป็นการเอาอำนาจรัฐมาใช้เพื่อหาประโยชน์ให้กับธุรกิจของครอบครัวและพวกพ้อง ขนาดของความเสียหายนั้นคงยากจะประเมินได้อย่างแม่นยำ แต่คาดว่าคงอยู่ในหลักหลายแสนล้าน จึงจำเป็นที่จะต้องติดตามเอาเงินคืน พร้อมลงโทษทางกฎหมายเพื่อให้หราบจำและเป็นเยี่ยงอย่างแก่นักการเมืองอื่นในอนาคต แนวทางการจัดการในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมามี 3 ขั้นตอนดังนี้

(1) ประกาศอายัดทรัพย์ของนักการเมืองทั้งหลายที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญในรัฐบาลทักษิณเป็นการชั่วคราวโดยทันที จนกว่าจะเสร็จสิ้นคดีความ

(2) ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจสัก 5-7 คน แยกต่างหากจาก ปปช. โดยนำบุคคลที่มีความสามารถเหมาะสมกับภารกิจและเป็นที่ยอมรับของสังคม เช่น คุณกล้านรงค์ จันทิก มาเป็นประธาน เพื่อดำเนินการศึกษา ติดตาม หาเบาะแส เตรียมสำนวนฟ้องร้องบุคคลเหล่านั้น

(3) ให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง และติดตามจนคดีความสิ้นสุด หรือถ่ายโอนคดีให้ ปปช. รับไปดำเนินการต่อ

5. ปฏิรูปสื่อ

โดยผิวเผินอาจดูเหมือนเป็นแค่หัวข้อเล็กๆ หัวข้อเดียวในหลายๆ ระบบที่ต้องปฏิรูป แต่เนื่องจากสื่อมีหลากหลายแง่มุม หลายมิติ หลายวัตถุประสงค์ ตั้งแต่การค้า โฆษณา ข่าวสาร บันเทิง และบริการประชาชน การปฏิรูปสื่อจึงเข้าไปเกี่ยวข้องและโยงใยไปกับการปฏิรูปอื่นๆ อย่างแทบไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปการเมือง การศึกษา จริยธรรม หรือเศรษฐกิจ เนื่องจากความหลากหลายนี้เอง การจัดความสมดุลจึงเป็นหัวใจของการปฏิรูปสื่อทีเดียว ภายใต้หัวข้อนี้มีข้อเสนอกว้างๆ รวม 5 ข้อด้วยกัน

(1) เอาสัญญาสัมปทานคลื่นวิทยุโทรทัศน์ รวมถึงวงโคจรดาวเทียมมาทบทวนเพื่อจัดสรรใหม่ตามแนวทาง “เอาสมบัติสาธารณะคืนประชาชน” ภายใต้ภารกิจปรับแนวทางเศรษฐกิจ

(2) ทบทวนกฎหมายการสื่อสารที่ร่างขึ้นสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ให้สอดคล้องกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใต้ภารกิจปฏิรูปการเมือง

(3) ปรับผังรายการวิทยุโทรทัศน์เสียใหม่ โดยลดส่วนของรายการการค้า โฆษณา บันเทิง และทดแทนด้วยรายการที่ให้การศึกษาและความรู้ เสริมสร้างจริยธรรม ตลอดจนการให้ข่าวสารและความคิดอ่านทางการเมืองแก่สังคมให้มากขึ้น

(4) จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการผลิตรายการที่มีคุณค่าทางสังคมสูง แต่มูลค่าเชิงพาณิชย์ต่ำ พร้อมทั้งผลักดันการทำ “เรตติ้ง” รายการวิทยุโทรทัศน์ ในลักษณะที่ไม่ได้มุ่งเน้นแค่จำนวนคนดูหรือมูลค่าของโฆษณา แต่เน้นประเด็นคุณค่าของรายการต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา สารคดี จริยธรรม การเมือง เพื่อช่วยในการพิจารณาเงินสนับสนุนรายการจากกองทุนดังกล่าว

(5) สร้างเคเบิลทีวีแห่งชาติ เพื่อส่งกระจายรายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมถึงประชาชนและธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่นอย่างทั่วถึงโดยไม่คิดมูลค่า ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์รายย่อยสามารถมีช่องสถานีออกอากาศของตนเอง ตราบเท่าที่ไม่ผลิตรายการที่ผิดกฎหมายหรือศีลธรรมจรรยา ซึ่งจะเป็นการลดอำนาจผูกขาดทางช่องสัญญาณของสถานีโทรทัศน์หลัก (ช่อง 3-5-7-9-11 และ ITV) และจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันการผลิตรายการที่มีคุณภาพและสาระประโยชน์แก่สาธารณะ

6. เสนอแนวทางปฏิรูประบบอื่นๆ

ภารกิจชาติหัวข้อสุดท้ายนี้ต่างจาก 5 ภารกิจข้างต้นตรงที่เป็นภารกิจระยะกลางถึงยาว คงไม่สามารถทำให้สำเร็จลุล่วงในช่วงของรัฐบาลเฉพาะกาลได้ แต่การจัดให้มีการศึกษาอย่างจริงจังและจัดทำแนวทางข้อเสนอ ก็จะช่วยวางแนวทางของประเทศชาติภายหลังรัฐบาลเฉพาะกาลเสร็จภารกิจแล้ว พรรคการเมืองที่เห็นด้วยกับแนวทางก็สามารถนำเอาไปใช้เป็นวาระในการหาเสียงของพรรคตนในการเลือกตั้งที่จะถึง หรืออาจนำเอาไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารประเทศเมื่อชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลก็ได้ ระบบที่มีความสลักสำคัญที่น่าจะนำมาศึกษาและเสนอแนวทางในการปฏิรูปอย่างจริงจังมี 4 ระบบด้วยกันคือ

(1) ปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็น แต่ได้ถูกละเลยอย่างมากในรัฐบาลทักษิณ ส่วนรัฐบาลประชาธิปัตย์ก่อนหน้านั้นได้ออก พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งได้สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนว่า การศึกษาของชาติได้รับการแก้ไขเยียวยาแล้ว แต่แท้จริง พรบ. ดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องการปรับเปลี่ยนวิธีทำงานของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้มีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาเลย

(2) ปฏิรูปสาธารณสุข ระบบสาธารณสุขของไทยนั้นยังไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ถูกฉาบเคลือบด้วย “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนวิธีการเงินการคลังและการเกลี่ยงบประมาณแบบใหม่เท่านั้น โครงสร้างของระบบสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานพยาบาลของรัฐยังล้าหลังและถูกละเลยมานาน

(3) ปฏิรูปราชการ ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าได้มีการปฏิรูประบบราชการโดยรัฐบาลทักษิณแล้ว แต่ในความเป็นจริงเป็นเพียงการแยกกองและรวมกองของหน่วยงานระดับกรมเสียใหม่เท่านั้นเอง ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีสาระประโยชน์ต่อระบบราชการแต่อย่างใด นอกจากจะเอาไว้ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับปลด สับเปลี่ยน และสังหารหมู่ทางการเมืองของข้าราชการระดับสูงที่ดื้อดึง

(4) ปฏิรูปศาสนาและจริยธรรม ปัญหาด้านศาสนาและจริยธรรมนั้นแท้จริงก็คือรากเหง้าของปัญหาทั้งปวง ถ้าตรองดูจะพบว่า ประเด็นหลักของการต่อสู้ระหว่างประชาชนและรัฐบาลทักษิณเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา คือเรื่องการขาดจริยธรรมของผู้นำประเทศนั่นเอง การรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ “จริยธรรมนำการเมือง” ได้นั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ใช้เวลาและความพยายามมหาศาลจากทุกวงการและภาคส่วนของสังคม

แม้ต้องจะมีความแตกต่างในด้านเทคนิคและเนื้อหาสาระมากมาย แต่แนวทางและกระบวน การปฏิรูปของทั้งสี่ระบบควรมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ดังต่อไปนี้

(1) กระบวนการต้องเปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีการเอาบุคคลจากหลากหลายพื้นเพมาร่วมแสดงความคิดเห็น ไม่จำกัดอยู่เพียงในกลุ่มของเทคโนแครตหรือผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในการปฏิรูปการศึกษา ไม่ควรเน้นรับฟังแต่ความเห็นของนักการศึกษา หรือไม่ควรเอาข้าราชการหรืออดีตข้าราชการมาเป็นกรรมการส่วนใหญ่ในการปฏิรูประบบราชการ เป็นต้น

(2) รัฐบาลเฉพาะกาลไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของคณะกรรมการ แต่ควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการเงิน บุคลาการ ข้อมูล และการประสานงาน

(3) เป้าหมายและแนวทางของการปฏิรูปทุกระบบควรสอดคล้องกับแนวทางหลักหรือยุทธศาสตร์ของประเทศตามภารกิจข้ออื่นๆ ด้วย

สรุป

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น เมื่อค่ำคืนของวันอังคารที่ 19 กันยายน 2549 นั้น ได้มาด้วยราคาแพง เสี่ยงทั้งชีวิตของทหารหาญ สร้างความยากลำบากของประชาชนที่ได้ทำการต่อสู้กับรัฐบาลทักษิณมายาวนาน ทั้งเกิดในช่วงปีมหามงคล และเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศชาติ จนอาจถือได้ว่า “จุดเปลี่ยนประเทศไทย” หากบริหารจัดการไปในทิศทางที่ถูกต้องก็จะสร้างคุณูปการให้แก่ประเทศชาติอีกนับสิบๆ ปี

คำถามที่สำคัญที่สุดขณะนี้ก็คือ “แล้วจะทำอะไรกันต่อไป?” หนังสือเล่มน้อยนี้คือข้อเสนอของสถาบันสหสวรรษ ที่ได้รวบรวมเรียบเรียงจากความคิดเห็นของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ในรายการเสวนาประชาชนของสถาบันตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา

ข่าวดีก็คือ งานของชาติเสร็จไปแล้วครึ่งหนึ่งด้วยการล้มรัฐบาลทักษิณ อีกครึ่งหนึ่งคือการล้างบ้านล้างเมือง ส่วนข่าวร้ายก็คือ ครึ่งหลังยากกว่าครึ่งแรก

วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์


ดร. วุฒิพงษ์ ได้ต่อสู้ร่วมกับประชาชน เพื่อล้มระบอบทักษิณตั้งแต่เริ่มต้นและมาโดยตลอด โดยได้เคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ เช่น ขึ้นปราศัย บรรยาย ให้ความเห็น จัดเสวนาประชาชน จัดทำใบปลิว พิมพ์หนังสือ ผลิตซีดี สิ่งที่ปรากฏเด่นชัดก็คือ ดร. วุฒิพงษ์ มิได้เพียงแค่วิพากษ์วิจารณ์ระบอบทักษิณเท่านั้น แต่จะเสนอแนวทางออกสำหรับบ้านเมืองอยู่เสมอ

ด้านหน้าที่การงาน ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้อำนวยการของสถาบันสหสวรรษ ในอดีตเคยร่วมก่อตั้งและเป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกของ บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) ระหว่างปี 2536 ถึง 2541 ก่อนหน้านั้นเคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายแผนงาน ธนาคารกรุงเทพ

ทางด้านวิชาการ เคยเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลน่า (University of North Carolina) ผู้ช่วยศาสตราจารย์และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษารัฐวิสาหกิจ สังกัดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทางด้านการศึกษา เคยสอบได้ที่หนึ่งของประเทศไทย แผนกวิทยาศาสตร์ ปีการศึกษา 2512 ได้รับทุนเล่าเรียนหลวง พ.ศ. 2513 และทุนร็อคกี้เฟลเลอร์ พ.ศ. 2520 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโยธา จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสสาชูเสตต์ (Massachusetts Institute of Technology, MIT) ปริญญาโทสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ และปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago)






<< Home

Archives

July 2006   August 2006   September 2006  

This page is powered by Blogger. Isn't yours?